บลจ.ร่วมผลักดันตั้งกองทุนธรรมาภิบาลไทย คาดเปิดขายกลางปีนี้ หลังเปิดตัว I Code ถือเป็นนวัตกรรมที่จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ทางสังคมให้แก่ภาคเอกชนไทย และบริษัทจดทะเบียน พร้อมชู 55 หุ้นยั่งยืนประเดิมเข้าลงทุน ย้ำเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับความเสียหายของประเทศจากการทุจริตคอร์รัปชันที่มีมูลค่าสูงถึงหลักแสนล้านบาท นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เปิดเผยว่า ภาคตลาดทุน และตลาดการเงินได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่เพื่อก่อตั้ง “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย” ซึ่งเบื้องต้นความร่วมมือของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไม่ต่ำกว่า 14 องค์กรที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารสูงถึง 90% ของทั้งอุตสาหกรรมกองทุนรวม หลังจากที่ได้ร่วมเปิดตัว “หลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน” หรือ I Code เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กองทุนทื่จะอยู่ภายใต้หลักการของ “กองทุนรวมธรรมมาภิบาลไทย” จะมีทั้งกองทุนที่ลงทุนในหุ้น และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) คาดว่าจะเสนอขายหน่วยลงทุนได้ในช่วงกลางปี 60 ซึ่งทั้ง 14 องค์กรจะร่วมกันกำหนดกติกาการกลั่นกรองหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่มีคุณสมบัติการกำกับกิจการที่ดี (CG) เข้ามาอยู่ในตะกร้าเดียวกัน เพื่อเป็นตัวเลือกให้กองทุนดังกล่าวเข้ามาลงทุน กองทุนดังกล่าวจะมีกลไกการตรวจสอบที่เชื่อถือได้ และมีคณะกรรมการทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองอย่างโปร่งใส นอกจากนี้ ยังจะแบ่งรายได้จากการบริหารกองทุนในสัดส่วน 40% ไปสนับสนุนองค์กร หรือโครงการที่มีแนวคิดในการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในตลาดทุนต่อต้านคอร์รัปชัน อาทิ โครงการข้อตกลงคุณธรรม โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น (CAC) โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) รวมถึงโครงการต่างๆ ด้านหลักสูตรที่ปลูกฝังคุณธรรมด้านธรรมาภิบาลให้กับเยาวชน “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย ถือเป็นนวัตกรรมที่จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ทางสังคมให้แก่ภาคเอกชนไทย และบริษัทจดทะเบียน โดยนักลงทุนทั้งบุคคล และสถาบันได้มีส่วนร่วมในการพัฒนายกระดับธรรมาภิบาลเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์ปชัน และเชื่อว่ากองทุนนี้จะสามารถสร้างผลลัพธ์ทางสังคม สร้างผลตอบแทนแบบยั่งยืน เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับความเสียหายของประเทศจากการทุจริตคอร์รัปชันที่มีมูลค่าสูงถึงหลักแสนล้านบาท” นางวรวรรณ กล่าวอีกว่า ในระยะแรกจะมีการคัดเลือกหุ้นที่มาจากกลุ่มที่ได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนประจำปี 2559 (SET Sustainability Awards 2016) ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนได้รับการคัดเลือกจำนวน 55 แห่ง แบ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) จำนวน 50 บริษัท และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 5 บริษัท “เราจะใช้ 55 หุ้นที่อยู่ในกลุ่มความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์มาก่อน ซึ่งเราต้องเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการ ข้อมูลเกี่ยวกับการเงิน และการดำเนินกิจการ ซึ่งจะร่วมกับ บลจ.ทั้ง 14 แห่งในการพิจารณา และจะมีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้ง” นางวรวรรณ กล่าวสรุป